O3กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

2.พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565

  1. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
  2. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
  3. พระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
  4. แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน
  5. ประมวลกฎหมายอาญา
  6. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด
  7. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  8. ประมวลกฎหมายยาเสพติด
  9. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 28)
  10. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 26)

แนวทางปฏิบัติในการจับหรือค้น

มาตรการการป้องกันการแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจ

แนวปฏิบัติในการใช้ดุลยพินิจไม่รับคำร้องทุกข์ในคดีอาญา

แนวปฏิบัติในการสอบปากคำของพนักงานสอบสวน

สิทธิของผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมและสิทธิผู้ต้องหา

รวมกฎหมายในความรับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อได้รับหมายเรียกหรือถูกควบคุมตัว

1. อ่านหมายให้ละเอียด ว่าเป็นหมายเรียกครั้งที่เท่าไร เป็นหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือเป็นหมายเรียกพยาน หากมีข้อสงสัยให้โทรศัพท์สอบถามตามเบอร์โทรศัพท์ของพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในหมาย

2. หมายเรียกจะระบุวันที่ที่เรียกให้ไปพบ หากไม่สามารถไปตามหมายได้ ให้โทรศัพท์แจ้งกับพนักงานสอบสวนและส่งหนังสือแจ้งขอเลื่อนนัดก่อนวันที่ที่ระบุในหมาย

3. ควรปรึกษาทนายความ และไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความหรือบุคคลที่ไว้ใจ

4. หากได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 แล้วไม่ไปตามหมาย พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่ไปตามหมายเรียกครั้งที่ 2 อาจถูกออกหมายจับได้

5. หากมีการนำตัวไปแถลงข่าว เรามีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ยินยอมแถลงข่าวได้

6. กรณีมีหมายเรียก พนักงานตำรวจจะไม่มีอำนาจควบคุมตัว

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัว

การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่อาจถูกจับกุมเนื่องจากถูกออกหมายจับโดยศาล ดังนั้นหากถูกจับกุมหรือควบคุมตัว ควรปฏิบัติดังนี้

1. สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่

2. ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร

3. ให้ถามว่าจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร

4. เราต้องรู้ว่าจะถูกพาตัวไปที่ไหน

5. แจ้งให้ญาติหรือคนใกล้ชิดรวมถึงทนายความทราบโดยด่วน

6. หากมีการนำตัวไปแถลงข่าว เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยินยอมแถลงข่าวได้

กรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงาน ควรปฏิบัติดังนี้

1. สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่

2. ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน

3. ต้องทำการค้นในช่วงเวลากลางวัน

4. ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน

พนักงานหรือเจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาต หากไม่มีหมายศาลพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจ และเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ทำตามได้

1. คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา

2. สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟลชไดรฟ์ แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่

3. ตรวจสอบ หรือต้องการ Log in เพื่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค มือถือ แท็บเล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา

4. ต้องการรหัสผ่านเพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้ารหัส หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกระทำการดังกล่าว

5. ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น

เมื่อถูกควบคุมตัว เราควรมีปฏิบัติดังต่อไปนี้ และพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา

1.  ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูลไม่ควรให้ข้อมูลใดๆ ทั้งชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี

2. อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน

3. ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ เช่น หากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ ไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนแล้วแต่ไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง

4.  หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่งและอ่านเอกสารให้ครบถ้วน ดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้

5. โปรดระมัดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่เพราะจะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้

6. หากถูกจับกุมตัว ตำรวจสามารถควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่มาถึงสถานีตำรวจที่ออกหมายจับ หลังจากนั้นจะถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาล โดยเรามีสิทธิขอประกันตัวในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาลได้

7. ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวเราได้สูงสุดเพียง 7 วันเท่านั้น

8. หากถูกเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือให้เซ็นเอกสารต่างๆ โดยอ้างว่าหากไม่ทำจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่เหล่านี้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

เมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ ควรปฏิบัติตัวและควรให้การอย่างไรต่อพนักงานสอบสวน

1. ไม่ควรให้การใดใด กับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น

2. หากไม่มีทนายความ ควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาหรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น

3. พึงระวังว่าเรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้ เรามีสิทธิจะให้ทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบสวนได้ และการให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล

การประกันตัว คืออะไร ทำตอนไหน ใช้เงินเท่าไหร่?

การขอประกันตัว คือ การขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลตามระยะเวลาที่กําหนด

เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าความจําเป็น ในระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างพิจารณาคดี เพราะหากไม่มีความจําเป็นต้องควบคุม ก็ควรที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวไป อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจําเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด

การขอประกันตัวในชั้นศาลมี 3 ช่วง

ช่วงที่หนึ่ง คือ ประกันตัวก่อนถึงศาล จะเป็นการประกันตัวที่โรงพักและไปต่อที่สำนักงานอัยการ

ช่วงที่สอง คือ ประกันตัวต่อศาลแต่ยังไม่มีการฟ้องคดี เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขังซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้มีการฟ้องคดีจริงๆ เรื่องก็ยังไม่ถึงศาล

ช่วงที่สาม คือ ช่วงที่ศาลรับฟ้องแล้ว ไม่ว่าจะฟ้องโดยอัยการ หรือประชาชนฟ้องเอง ถ้าศาลประทับรับฟ้องแล้วเราต้องไปประกันตัวที่ศาล

ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัว

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย
  2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง  เช่น บุพการี  ผู้สืบสันดาน  คู่สมรส  ญาติพี่น้อง  ผู้บังคับบัญชา

การขอประกันตัวต่อศาล

1. การขอประกันตัวระหว่างชั้นฝากขัง (ขณะเป็นผู้ต้องหายังไม่ได้ถูกสั่งฟ้องคดี)

ทําได้เมื่อผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจหรือพนักงานอัยการนําตัวมาขออนุญาตศาลฝากขัง ระหว่างที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นขอประกันตัวต่อศาล

2. การขอประกันตัวชั้นพิจารณาคดี

ทําได้เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาล และเปลี่ยนฐานะจากผู้ต้องหาเป็นจําเลย จําเลยมีสิทธิขอประกันตัวต่อศาลได้

ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ (ผู้เสียหายฟ้องเอง) เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว จําเลยจะยื่นขอประกันตัวก่อนวันนัดหรือในวันนัดที่ระบุในหมายเรียกให้มาแก้คดีก็ได้

3. การขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา

เมื่อมีกรณีที่จําเลยถูกขังหรือจําคุกโดยผลของคําพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ จําเลยอาจยื่นขอประกันตัวก่อนที่จะยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกา หรือจะยื่นขอประกันตัวพร้อมกันหรือหลังจากยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาก็ได้

การขอประกันตัวดังกล่าว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีหรืออาจยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี

ทั้งนี้การประกันตัวในชั้นใดก็จะใช้ได้ในชั้นนั้นเมื่อชั้นของการของประกันตัวเปลี่ยนไปก็ต้องยื่นขอประกันตัวใหม

หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอประกันตัว

  1. บัตรประชาชน บัตรข้าราชการ หรือบัตรแสดงตำแหน่งหน้าที่การงาน ทะเบียนบ้านของจำเลยและผู้ประกันพร้อมสำเนา
  2. หลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เงินสด บัญชีเงินฝาก
  3. หนังสือรับรองจากต้นสังกัดหรือนายจ้าง (กรณีขอประกันตัวด้วยตำแหน่งหน้าที่)
  4. หนังสือรับรองราคาประเมิน (กรณีใช้โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นระกัน)
  5. หนังสือรับรองจากธนาคาร (กรณีใช้สมุดเงินฝากเป็นประกัน)
  6. หลักฐานการยินยอมของคู่สมรส (กรณีผู้ประกันมีคู่สมรส)

วงเงินประกันตัวมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ จำนวนโทษจำคุก ตามความผิดอาญาและข้อหา

การกำหนดจำนวนเงินประกันตัว

การกำหนดจำนวนเงินประกันตัวในสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาลำดับที่ ข้อหา หรือ ฐานความผิด เงินสด (ขั้นต่ำ) ราคาประเมินหลักทรัพย์ (ขั้นต่ำ) ประมวลกฎหมายอาญา

  1. ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  60,000 – 130,000
  2. แจ้งความเท็จ 40,000 – 70,000
  3. ฟ้องเท็จ 60,000 – 80,000
  4. เบิกความเท็จ 40,000 – 70,000
  5. หมิ่นประมาท 30,000 – 60,000
  6. เพลิงไหม้ 170,000 – 250,000
  7. ทำลายเอกสาร 30,000 – 60,000
  8. ปลอมเอกสารธรรมดาหรือเอกสารสิทธิ 70,000 – 150,000
  9. ปลอมเอกสารราชการ 80,000 – 150,000
  10. ปลอมเอกสารสิทธิซึ่งเป็นเอกสารราชการ 90,000 – 180,000
  11. โทรมหญิง 200,000 – 400,000
  12. อนาจาร 50,000 – 120,000
  13. ธุระจัดหาหญิง 200,000 – 400,000
  14. พรากผู้เยาว์ 80,000 – 160,000
  15. พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร 100,000 – 200,000
  16. ฆ่าผู้อื่น 200,000 – 400,000
  17. ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา 100,000 – 200,000
  18. พยายามฆ่าผู้อื่น 80,000 – 150,000
  19. ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ขับรถส่วนบุคคล) 80,000 – 150,000
  20. ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ขับรถบรรทุก , รับจ้าง) 120,000 – 200,000
  21. ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ตายหมู่ ตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป) 150,000 – 300,000
  22. ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส 80,000 – 160,000
  23. ทำร้ายร่างกาย 10,000 – 50,000
  24. ลักทรัพย์ 50,000 – 100,000
  25. วิ่งราวทรัพย์ หรือลักทรัพย์ตั้งแต่ 2 อนุมาตราขึ้นไป 80,000 – 160,000
  26. ลักทรัพย์เป็นแก๊งมิจฉาชีพ 100,000 – 200,000
  27. ชิงทรัพย์ 100,000 – 200,000
  28. ชิงทรัพย์มีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ 150,000 – 300,000
  29. ชิงทรัพย์ทำร้ายเจ้าทรัพย์บาดเจ็บ 150,000 – 300,000
  30. ชิงทรัพย์ฆ่าเจ้าทรัพย์ 200,000 – 400,000
  31. ปล้นทรัพย์ 200,000 – 300,000
  32. ปล้นทรัพย์มีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ 250,000 – 350,000
  33. ปล้นทรัพย์ทำร้ายเจ้าทรัพย์บาดเจ็บ 260,000 – 400,000
  34. ปล้นทรัพย์ฆ่าเจ้าทรัพย์ 300,000 – 500,000
  35. ฉ้อโกง 30,000 – 70,000
  36. ฉ้อโกงประชาชน 150,000 – 300,000
  37. ฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงลักษณะจัดหางาน 180,000 – 400,000
  38. ฉ้อโกงมีพฤติการณ์เป็นแก๊งตกทอง แก๊งไพ่สามใบ 120,000 – 200,000
  39. โกงเจ้าหนี้ 40,000 – 80,000
  40. รีดเอาทรัพย์ 80,000 – 120,000
  41. กรรโชกทรัพย์ 100,000 – 200,000
  42. ยักยอกทรัพย์ 30,000 – 60,000
  43. รับของโจร 50,000 – 100,000
  44. รับของโจรมีพฤติการณ์เป็นคนร้ายลักทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ 100,000 – 200,000
  45. ทำให้เสียทรัพย์ 30,000 – 70,000
  46. บุกรุก 30,000 – 70,000
  47. บุกรุกเพื่อทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ชีวิต ร่างกาย 100,000 – 200,000
  48. พยานขัดหมายศาล 50,000 – 100,000
  49. พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 1 ใน 3 ของจำนวนเงินตามเช็ค แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

การประกันตัวเป็นสิทธิที่เราจะขอได้ แต่ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาดที่เราต้องได้แน่ๆ

หมายความว่าเราต้องทำให้ศาลเชื่อใจว่าเราควรได้รับการประกันตัว ซึ่งโดยปกติแล้วผู้พิพากษามีความตั้งใจให้เราประกันตัวระหว่างสู้คดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเหตุผลที่กฎหมายห้ามไว้ เราก็จะไม่ได้รับการประกันตัว

เช่น จะไปทำความผิดเดิมอีก, จะไปรบกวนพยานหรือเอกสารหลักฐาน หรือเป็นคดีร้ายแรงกลัวว่าจะหนีไป เป็นต้น